วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2562

LTV ปลดล็อกกู้ร่วมแล้วดียังไง? ไม่มีชื่อในกรรมสิทธิ์ก็เหมือนไม่ได้กู้

ข่าวดีสำหรับผู้กู้ร่วม และคนที่กำลังมองหาผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน ซื้อคอนโดในช่วงนี้ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ผ่อนปรนมาตรการ LTV สำหรับผู้กู้ร่วมแล้ว!
นับตั้งแต่การออกมาตรการคุมเข้ม LTV เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 เพื่อกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) ให้เข้มงวดขึ้น ทำให้ผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป ต้องแบกรับภาระการวางเงินดาวน์ที่สูงขึ้น หลังจากประกาศใช้มาตรการนี้มาได้ 4 เดือน นักพัฒนาหลายรายเห็นว่ามีผู้กู้สินเชื่อบ้านแนวราบไม่ผ่านหลายราย เพราะต้องเก็บเงินมาวางเงินดาวน์ที่สูงขึ้น และเตรียมตัวผ่อนบ้านอีกด้วย เมื่อจะไปหาคนกู้ร่วมก็ยาก เพราะ คนที่ยอมกู้ร่วมกับเราไม่ว่าจะเป็นญาติ พี่น้อง แฟน สามีภรรยา จะถือว่ามีหนี้กันคนละครึ่ง ยิ่งคนที่เราขอเอาชื่อเขามาใส่เป็นผู้กู้ร่วม แต่เจ้าตัวไม่ได้มาอยู่บ้านเดียวกับเรา เมื่อเขาต้องการไปกู้บ้านของตัวเองก็จะต้องวางเงินดาวน์สูงขึ้น เพราะถือว่าเป็นการกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 
    แล้วการผ่อนปรนมาตรการ LTV นี้จะช่วยให้กำลังซื้อสังหาริมทรัพย์ดีขึ้นได้อย่างไร ผู้กู้ร่วมจะได้รับผลประโยชน์อย่างไรบ้าง คนที่กำลังวางแผนซื้อบ้านทั้งหลาย โดยเฉพาะคนที่กำลังกังวลเรื่องการกู้ร่วมต้องอ่าน
  • ผู้กู้ร่วมได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง?
  • ปลดล็อกกู้ร่วม จะช่วยตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ไหม?
ผู้กู้ร่วมได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง?
เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้กู้ร่วมที่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ให้ได้รับสินเชื่อตามความเหมาะสมมากขึ้น ธปท. จึงพิจารณาผ่อนปรนการนับสัญญากรณีกู้ร่วม โดยถ้าผู้กู้ไม่มีชื่อเป็นกรรมสิทธิ์ จะผ่อนปรนเสมือนยังไม่เป็นผู้กู้ในครั้งนั้น เนื่องจากไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่ออยู่อาศัย เพียงแค่ช่วยเหลือกันภายในครอบครัว
เดิม
จากเดิมการกู้ร่วมจะถือว่าผู้กู้ร่วมเป็นลูกหนี้และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกัน เท่าๆ กัน โดยผู้กู้แต่ละคนจะถือสิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพย์สิน ถึงแม้ว่าในความเป็นจริง พ่อแม่กู้ร่วมกับลูก หรือญาติพี่น้องกู้ร่วมกันจะเป็นเพียงการช่วยเหลือกันให้กู้ผ่าน ไม่ได้อาศัยอยู่ หรือต้องการกรรมสิทธิ์ในบ้าน หรือ คอนโดหลังนั้นก็ตาม
ใหม่

ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับหลักการนับสัญญาสำหรับการกู้ร่วม ให้นับสัญญาตามผู้กู้ที่มีกรรมสิทธิ์บนที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลัก ดังนี้
คำถาม: กรณีที่ 1 ผู้กู้ A มีสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว 1 สัญญา และในครั้งนี้มาขอกู้ร่วมกับ B ซึ่ง B ยังไม่เคยกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาก่อน
คำตอบ: หากทั้ง A และ B มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยสำหรับการกู้ร่วม ให้นับสัญญาการกู้ร่วมดังกล่าวเป็นสัญญาที่ 2 ของ A (LTV 90% หรือ 80%) แต่หากกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยที่กู้ร่วมในครั้งนี้เป็นของ B แต่เพียงผู้เดียว จึงถือว่าสัญญาการกู้ร่วมในครั้งนี้ เป็นสัญญาแรกของ B และไม่นับเป็นสัญญาที่ 2 ของ A
คำถาม: กรณีที่ 2 ผู้กู้ A และ B กู้ร่วมมาก่อน และในครั้งนี้ B มาขอกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (ปรับปรุงเพิ่มเติม)
คำตอบ:  ในการกู้ร่วมครั้งแรก หาก A มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยแต่เพียงผู้เดียว จะนับสัญญาที่กู้ร่วมเป็นสัญญาแรกของ A โดยไม่นับเป็นสัญญาแรกของ B ดังนั้น ในการกู้เดี่ยวของ B ในครั้งนี้ จะนับเป็นสัญญาแรกของ B แต่หากในการกู้ร่วมครั้งแรก B มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่อยู่อาศัยดังกล่าวด้วย ก็จะนับสัญญาการกู้เดี่ยวของ B ในครั้งนี้ เป็นสัญญาที่ 2

 


ปลดล็อกกู้ร่วม จะช่วยตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ไหม?
นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายคาดว่าการปลดล็อกกู้ร่วม จะช่วยเพิ่มกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ราว 10% จากบทสัมภาษณ์ของ ไชยยันต์ ชาครกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ “การปลดล็อกผู้กู้ร่วมของแบงก์ชาติถือเป็นเรื่องที่ดี จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อในภาพแมโครได้เพิ่มขึ้น 10% หากจะช่วยเหลือก็ควรพิจารณาปลดภาระผู้กู้ร่วมออก โดยพิจารณาจากผู้กู้หลักที่มีความสามารถชำระหนี้ที่ดีและต่อเนื่อง อยากฝากเรื่องนี้ไปถึงธนาคารด้วย ไม่ใช่ฝากไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยเพียงอย่างเดียว”
โดยคาดว่าผู้กู้ร่วมส่วนใหญ่จะเป็นผู้ซื้อบ้านแนวราบ และคอนโดราคาต่ำ – กลางๆ ที่ต้องการคนกู้ร่วมเพื่อเพิ่มความสามารถในการผ่อนชำระ และโอกาสในการกู้ธนาคารให้ผ่าน แต่นักพัฒนาหลาย ๆ บริษัทยังไม่ฟันธงว่าการผ่อนปรนมาตรการ LTV นี้จะช่วยเพิ่มกำลังซื้ออสังหาฯ ได้มากแค่ไหน เพราะเป็นมาตรการใหม่ จึงต้องรอดูกันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น